2/9/56

มารู้จัก เจ. เค. โรว์ลิง กัน


โจแอนน์ "โจ" โรว์ลิ่ง (อังกฤษJoanne "Jo" Rowling, OBE) หรือที่รู้จักในนามปากกา เจ. เค. โรว์ลิ่ง (เกิด 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2508)  ผู้แต่งวรรณกรรมเรื่อง แฮร์รี่ พอตเตอร์ มีทรัพย์สินร่วม 2,000 ล้านบาท ขึ้นทำเนียบบุคคลรวยที่สุดอันดับ 122 ของอังกฤษ


เธอเกิดมาในครอบครัวของนักอ่าน บิดามารดาสะสมหนังสือไว้มากมาย ปีเตอร์ พ่อของเธอเป็นวิศวกร ในขณะที่ แอนด์ แม่ของเธอเป็นลูกครึ่งฝรั่งเศส-สกอตต์ ทำหน้าที่แม่บ้านดูแลเธอ และ ได น้องสาว โจเขียนหนังสือเรื่องแรกของเธอมีชื่อว่า Rabbit เมื่ออายุเพียงห้าขวบ และพ่อแม่ของเธอก็กระตือรือร้นในการปลูกฝังจินตนาการของลูกสาวคนโต เมื่อโจอายุได้ 14 แม่ของเธอก็ป่วยเป็นโรคเส้นโลหิตตีบ
เมื่อจบชั้นมัธยมศึกษา เจ.เค.โรว์ลิ่งเข้าเรียนต่อระดับปริญญาตรีทางด้านภาษาฝรั่งเศสและวรรณกรรมคลาสิกที่มหาวิทยาลัยเอ็กเซเตอร์ แต่ หลังจากเรียนจบแล้วเธอมุ่งหน้าไปสู่ลอนดอน และได้งานเป็นเลขานุการองค์การนิรโทษกรรมระหว่างประเทศ
แฮร์รี่ พอตเตอร์ ได้ถือกำเนิดขึ้น ในปี 1990 ขณะที่เธออยู่บนรถไฟระหว่างสถานีแมนเชสเตอร์ และคิงส์ครอสในลอนดอน โจแอนก็แว่บความคิดเกี่ยวกับเด็กกำพร้าผู้ค้นพบว่าเขาคือพ่อมด เธอรีบตรงกลับบ้านและบันทึกความคิดนี้ลงบนกระดาษทันที และนี่คือจุดเริ่มต้นของโปรเจกต์ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในหกปีต่อมา ต่อมาเจ.เค.ย้ายไปเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่ประเทศโปรตุเกส ณ ที่นั้นเธอได้แต่งงานกับนักหนังสือพิมพ์ชาวโปรตุเกสและมีลูกสาวหนึ่งคนชื่อเจสสิก้า ก่อนที่ทั้งคู่จะแยกทางกันและเจ.เค.ก็ย้ายไปอยู่สกอตแลนด์พร้อมกับเจสสิก้า ลูกสาว
ระหว่างที่เธอกลายเป็นคนว่างงานและเลี้ยงชีพด้วยเงินช่วยเหลือของรัฐบาลนี้ เจ.เค.ใช้เวลาว่างเขียนนวนิยายเกี่ยวกับเด็กชายพ่อมดที่เริ่มไว้จนจบ เจ.เค.โรวลิ่ง เคยให้สัมภาษณ์ว่าเธอเลี้ยงลูกสาวตามลำพังด้วยเช็คสังคมสงเคราะห์มูลค่า 70 ปอนด์ต่ออาทิตย์ อาศัยอยู่ในแฟลตโลโซ (หนูชุม) ค่าเช่าอาทิตย์ละ 230 ปอนด์ ซึ่งทำให้เธอต้องพาลูกมาเลี้ยงอยู่ที่ร้านกาแฟของน้องเขยทุกวัน พลางเขียนนิยายที่กลายเป็นหนังสือเบส์เซลเล่อร์ทั่วโลก และหลังจากถูกปฏิเสธจากหลายสำนักพิมพ์ ในที่สุดเจ.เค.ก็ขายลิขสิทธิ์เรื่องนี้ได้โดยได้รับเงินราว 4,000 ดอลลาร์
แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์ ผลงานชิ้นแรกของเธอได้โอกาสตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 1997 ด้วยยอดพิมพ์ต่ำกว่า 1,000 ฉบับ โดยเจ้าของสำนักพิมพ์แนะนำให้เธอใช้ตัว เจ. ที่เป็นตัวย่อชื่อหน้าของเธอเป็นนามปากกาดีกว่าใช้ชื่อจริงของเธอว่า โจแอนน์ เนื่องจากนักอ่านเด็กผู้ชายอาจจะไม่ชอบที่รู้ว่าเป็นงานที่ผู้หญิงเขียน โดยตัวย่อชื่อกลางอย่างตัว เค. นั้นเธอยืมมาจากเคธลีน ซึ่งเป็นชื่อของย่าเธอนั่นเอง
หลังจากที่ผลงานเล่มแรกของเธอเปลี่ยนหัวให้เป็น แฮร์รี่ พอตเตอร์กับศิลาอาถรรพ์สำหรับการจัดจำหน่ายในสหรัฐฯเมื่อปี 1998 ทั้งโลกก็ได้รู้จักกับปรากฏการณ์แฮร์รีฟีเวอร์ทันที
หลังจากผลิตผลงานมาทุกปีตั้งแต่ปี 1997 ถึงปี 2000 เธอก็หยุดพัก ซึ่งเป็นระยะห่างของเวลาถึง 3 ปีระหว่าง แฮร์รี่ พอตเตอร์กับถ้วยอัคนี ผลงานเล่มที่ 4 และ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับภาคีนกฟีนิกซ์ ผลงานเล่มที่ 5 ที่ออกสู่สายตาแฟนหนังสือเมื่อปี 2003 ซึ่งช่วงที่เว้นว่างนั้นเอง เธอได้แต่งงานอีกครั้งกับ นิล เมอร์เรย์ นายแพทย์ชาวสก็อตต์ ก่อนที่จะย้ายมาอยู่ด้วยกันในบ้านที่เอดินเบรอะ ร่วมกับลูกๆ ทั้ง 2 คนของพวกเขาทั้ง เดวิด วัย 4 ขวบ และ แม็คเคนซี วัย 2 ขวบ รวมทั้ง เจสซิกา ลูกสาวที่เกิดจากอดีตสามีนักข่าวชาวโปรตุเกส
ในที่สุดปี 2005 ผลงานภาคที่ 6 ของเธอ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเจ้าชายเลือดผสมออกวางจำหน่าย โดยในวันแรกสามารถขายได้มากถึง 850,000เล่ม โดยหลังจากนั้นสามารถขายได้ถึง 65 ล้านเล่ม และในเล่มนี้ โรว์ลิ่งยังทิ้งปมปริศนาไว้มากมายและเธอพร้อมแล้วที่เธอจะเขียนเล่มที่ 7 เล่มสุดท้ายของหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์
ปลายปี 2006 เธอได้ประกาศชื่อตอนของเล่มที่ 7 ซึ่งชื่อนั้นก็คือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูตซึ่งได้มีการคาดการต่างๆถึงเหตุการณ์ในเรื่องชื่อตอน ความหมายของเชื่อตอน ในประเทศไทยเองก็ได้มีการแต่งเรื่องของเล่ม 7 ขึ้นมาจากการคาดเดา และคาดเดาชื่อและแปลชื่ออกมาคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์ กับเสียงเพรียกแห่งความตาย ซึ่งเป็นการแปลที่ผิด เพราะคำว่า Hallows ไม่ได้หมายถึงเสียงร้องหรือเสียงเรียกอย่างเดียวแต่ยังหมายถึงการทำให้ศักสิทธิ์หรือศักสิทธิ์
ในกลางปี 2007 ราวเดือนกรกฎาคม แฮร์รี่ พอตเตอร์ภาค 7 วางจำหน่าย เฉพาะวันแรกที่วางจำหน่ายแล้วสามารถขายได้ถึง 1.2 ล้านเล่ม เฉพาะที่อังกฤษเท่านั้น ไม่ถึงอาทิตย์ขายไปได้ถึง 44 ล้านเล่ม ในไม่กี่วัน ลบล้างสถิติของภาคที่ 6 ไปอย่างถล่มทลาย และชื่อภาษาไทยคือ แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูต
ปี 2008 หลังจากหนังสือเล่มสุดท้ายของหนังสือชุดแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่มีชื่อว่า แฮร์รี่ พอตเตอร์กับเครื่องรางยมทูตวางแผงและออกจำหน่าย ซึ่งในเนื้อหาของเล่มที่7นี้ได้จบเรื่องราวของพ่อมดแฮร์รี่ พอตเตอร์ลง แต่หลังจากนั้นไม่นานก็มีกระแสเรียกร้องให้ เจ. เค. โรว์ลิ่ง ผู้เขียน เขียนหนังสือชุดนี้ในเล่มที่ 8 เธอออกมากล่าวว่า เธอไม่ได้ปฏิเสธว่าจะไม่มีหนังสือเล่มที่ 8 แต่ตอนนี้เธอยังไม่ได้เขียน ซึ่งถ้าเธอจะเขียนอาจจะหลังจากนี้อีกซะสิบปีแล้วค่อยว่ากันอีกที่
แต่เธอก็ได้ประกาศว่าเธอได้เขียนหนังสือนิยายเล่มใหม่ของเธอ พร้อมกับบอกว่าเธอได้เขียนหนังสือสารานุกรมเกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ซึ่งมีเรื่องต่างๆเกี่ยวกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ที่เธอไม่ได้เขียนลงในหนังสือ เธอจะนำมาบอกเล่าให้ผู้อ่านได้อ่านกันในหนังสือสารานุกรมนี้แต่เธอพูดว่าคงต้องใช้เวลาอีกหน่อย หลังจากนั้นไม่ถึงเดือนสำนักพิมพ์ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้ตีพิมพ์หนังสือสารานุกรมไปก่อนหน้าที่เจ. เค. โรว์ลิ่งจะได้เขียน จึงได้เกิดการฟ้องร้องต่อศาลที่สหรัฐอเมริกา ซึ่งเธอได้ฟ้องร้องสำนักพิมพ์ที่นำสารานุกรมไปจำหน่ายโดยไม่ขอเธอ และชนะการฟ้องครั้งนั้นในที่สุด
หลังจากการฟ้องร้องจบลงเธอได้เขียนนิทานที่เขียนด้วยลายมือของเธอเอง ในชื่อภาษาอังกฤษว่า The Tales of Beedle The Bard หรือในชื่อภาษาไทยที่ชื่อว่า เดอะ บีเดิล ยอดกวี ซึ่งนิทานเล่มนี้ได้มีปรากฏอยู่ในเล่มที่ 7 ซึ่งเธอเขียนขึ้นมาเจ็ดเล่มในโลกเท่านั้น และได้นำหกเล่มไปบริจาคให้กับบุคคลที่ได้ทำใหเธอประสบความสำเร็จ อีกหนึ่งเล่มนำไปประมูล ในราคาหลายล้านปอนด์ แต่ก็ได้มีเด็กสาวชาวออสเตรเลียคนหนึ่งซึ่งได้แต่งคำกลอนประกวดและชนะเลิศโดยเธอได้อ่านเนื้อหาในหนังสือเล่มนั้นทั้งหมด แต่อย่างไรก็ตามสำนักพิมพ์ของอังกฤษก็ได้เตรียมการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้และในวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2551 เป็นการวางแผงและจำหน่ายหนังสือเล่มนี้อีกด้วย ส่วนในประเทศไทยสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ก็ยังไม่ได้ยืนยันว่าจะตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้หรือไม่ ซึ่งเสียงเรียกร้องจากแฟนๆ แฮร์รี่ก็ร้องเรียนและเฝ้าถามบริษัทนานมีบุ๊คส์แทบทุกวัน ซึ่งมีการแปลเป็นภาษาอื่นถึง 23 ภาษาไปแล้ว ได้แก่ ภาษาอังกฤษและอเมริกาอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน ดัตช์ อิตาลี เกาหลี โปแลนด์ สโลวาเกีย จีนไต้หวัน เช็ก โปรตุเกสบราซิลเดนมาร์ก โปรตุเกส นอร์เวย์ รัสเซีย ฮิบรู สเปน ฮังการี กรีก สเปน จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม และฟินแลนด์ แต่แฟนๆ หนังสือที่ทนรอไม่ได้ต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวว่าให้ตีพิมพ์หรือไม่ก็บอกว่าจะถูกสำนักพิมพ์อื่นซื้อลิขสิทธิ์และออกจำหน่ายแทนนานมีบุ๊คส์ แต่ทางนานมีบุ๊คก็บอกว่าจะต้องรออีกหน่อยเพราะกำลังประชุมเรื่องนี้อยู่
แต่หลังจากเจ. เค. โรว์ลิ่งได้เขียนหนังสือนิทานเล่มนี้แล้วนั้นเธอก็ได้เขียนเรื่องราวสั้นๆ จำนวน 800 คำ ลงในกระดาษที่เป็นเรื่องราวของเจมส์ พอตเตอร์กับ ซีเรียส แบล็ก ปะทะกับตำรวจมักเกิ้ลธรรมดา เป็นเรื่องราวก่อนแฮร์รี่จะเกิด 3 ปี

แรงบันดาลใจ
เจ. เค. โรว์ลิ่ง ในวัยเด็กเป็นเด็กที่เรียกได้ว่าอยู่เคียงข้างกับหนังสือตลอดก็ว่าได้เธอรักการอ่านหนังสือเป็นพิเศษ พ่อของเธอ ปีเตอร์ โรว์ลิ่ง มักคอยเล่านิทานหรือหนังสือต่างๆที่มีอยู่ในบ้านให้โรว์ลิ่งได้ฟัง ซึ่งโรว์ลิ่งก็ชอบมากเป็นพิเศษ เธอมักชอบให้พ่อของเธอเล่านิทานเกี่ยวกับสัตว์ต่างๆ เช่น การผจญภัยของกระต่าย เป็นต้น จนเธอเริ่มไขว่คว้าที่จะเรียนรู้สิ่งต่างๆ เธอเริ่มต้นอ่านหนังสือในวัยเพียง 5 ขวบเท่านั้น เธอรักที่จะอ่านหนังสือ เธอลองที่จะแต่งหนังสือดูในวัยเพียง 6 ขวบเท่านั้น เธอแต่งนิทานเกี่ยวกับกระต่าย ซึ่งนี่เธอกล่าวไว้ภายหลังว่าที่เธอแต่งแฮร์รี่ พอตเตอร์ว่า การเขียนเรื่องของกระต่ายในวัย 6 ปีของเธอนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่เธอแต่งนิยายและวรรณกรรมเยาวชน โรว์ลิ่งยังกล่าวอีกว่าเหตุผลที่เธอเป็นนักเขียนและมาแต่งหนังสือนั้น เหตุผลแรกคือ เธอรักที่จะเขียนมัน และเหตุผลที่สอง เธออยากให้เด็กได้เรียนรู้จากหนังสือของเธอ ให้พวกเขานำสิ่งดีและข้อคิดในหนังสือไปใช้ในการดำรงชีวิตประจำวันของพวกเขาไม่ว่าจะเป็นที่บ้าน ที่โรงเรียน หรือที่อื่นๆ เธออยากให้นำมันไปใช้ในเหตุการณ์จริง
ส่วนแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์นั้น โรว์ลิ่งกล่าวว่ามีแรงบันดาลใจให้เธอนับไม่ถ้วน ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่เธออ่านหนังสือมากมายตั้งแต่ในวัยเด็กจนถึงวัยทำงาน หนังสือพวกนั้นทำให้ความใฝ่ฝันที่เธอจะเป็นนักเขียนเพิ่มมากขึ้น โรว์ลิ่งมีความสุขที่จะได้อ่าน มีความสุขที่หนังสือ วรรณกรรม วรรณคดี นิยาย ทั้งหมดทั้งมวลที่เธออ่านคอยเพิ่มพูนความสุขมาให้ โรว์ลิ่งมักจะอยู่กับหนังสือเป็นเวลานานๆเธอไม่เคยที่จะเบื่อการอ่านเลย หนังสือทำให้เธอมีความสุข ส่วนที่สองเกิดจากคนรอบข้างเธอตั้งแต่วัยเด็ก เช่น เพื่อนบ้านที่คอยดูแลเธอ เป็นต้น โรว์ลิ่งล้วนรักคนพวกนั้นเธอมักนำขชื่อต่างๆที่เธอเกี่ยวข้องมาลงเขียนในหนังสือเสมอ
ไอเดียเรื่องการเขียนแฮร์รี่ พอตเตอร์เกิดขึ้นในวันที่โรว์ลิ่งขึ้นรถไฟไปหาแฟนหนุ่มที่แมนเชสเตอร์ เมืองอุตสาหกรรมแห่งใหญ่ ทางเหนือของประเทศอังกฤษ ในขบวนรถไฟของสถานีคิงส์ครอสที่จะเดินทางกลับไปที่ลอนดอน โรว์ลิ่งนั่งลงที่นั่งของผู้โดยสารโดยเริ่มแรกเธอคิดเรื่องหนังสือต่างๆที่เธอเคยอ่าน เธอเคยลองเขียนหนังสือมาแล้วและเธออยากจะลองเขียนหนังสือที่ได้รับการตีพิมพ์ดู เธอคิดเรื่องที่จะเขียนหนังสือ ต่อไปเธอคิดเรื่องโครงเรื่องและแนวของหนังสือ เธอตัดสินใจว่าจะเขียนหนังสือเด็กซึ่งก็เหมาะสำหรับเด็กวัย 8-12 ปี เธอคิดต่อไปเรื่องแนวของหนังสือ เธอคิดถึงหนังสือทุกเรื่องที่เธอเคยอ่านมาซึ่งมีหนังสือเล่มหนึ่งที่เธอเค้นหัวสมองออกมาเจอ และคิดว่าแนวเรื่องของเรื่องที่เธอคิดนั้นเป็นอะไรที่สุดยอด หนังสือที่เธอคิดออกก็คือ หนังสือวรรณกรรมไตรภาคเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ ของนักเขียนชาวอังกฤษเจ. อาร์. อาร์. โทลคีน โรว์ลิ่งมองว่าการเขียนของโทลคีนเป็นการเขียนที่มีความอัจฉริยะในการเขียนหนังสือ เธอเลือกที่จะเขียนหนังสือแนวแฟนตาซีแต่จะจำกัดอายุของผู้อ่านและให้หนังสือของเธอเหมาะสำหรับเด็กอายุ 8-12 ปี ซึ่งต่างจากเดอะลอร์ดออฟเดอะริงส์ที่อ่านได้ทุกวัย เธอพยายามคิดถึงตัวเอกเธอตัดสินใจให้เป็นเด็กชาย ส่วนของรูปร่างหน้าตาเธอยังไม่สามารถคิดได้ เธอคิดต่อไป จนในขณะที่เธอมองวิวนอกหน้าต่างอยู่นั้นเธอก็เกิดความคิดขึ้น ภาพของเด็กชายตาสีเขียว ใส่แว่นตา และมีรอยแผลเป็นรูปสายฟ้าอยู่ตรงหน้าผาก โรว์ลิ่งกล่าวว่าความคิดครั้งนั้นเป็นไอเดียที่ดีเลิศที่สุดของเธอ เธอเตรียมจดเรื่องราวใส่กระดาษแต่ไม่ได้พกติดตัวมา รถไฟที่เธอนั่งเดินทางเป็นเวลา 4 ชั่วโมงถึงจะถึงลอนดอน เธอใช้เวลา 4 ชั่วโมงทั้งหมดคิดเรื่องราวของเรื่อง และตั้งชื่อเด็กชายว่า แฮร์รี่ซึ่งเป็นชื่อที่เธอโปรดปรานมากที่สุด และตั้งนามสกุลว่า พอตเตอร์ซึ่งครอบครัวพอตเตอร์เป็นเพื่อนบ้านสมัยเด็กของโรว์ลิ่ง ซึ่งเธอก็ชอบครอบครัวนี้มากๆและได้ตั้งวันเกิดให้เป็นวันที่ 31 กรกฎาคม เหมือนกับเธอ
แรกเริ่มโรว์ลิ่งคิดให้เด็กชายไปเรียนโรงเรียน ซึ่งโรงเรียนนั้นเปิดสอนวิชาเวทมนตร์ เธอคิดว่าโรงเรียนต้องเป็นปราสาทที่ลึกลับ สง่างาม ต้องเป็นโรงเรียนที่สมบูรณ์แบบ สำหรับฝึกสอนพ่อมดและแม่มดที่ยังเป็นเด็ก เธอคิดว่าโรงเรียนนี้ต้องอยู่ที่ที่เงียบสงบและห่างไกล เธอตั้งชื่อภายหลังว่า สถาบันพ่อมดแม่มดและเวทมนตร์ศาสตร์ฮอกวอตส์ ซึ่งชื่อนี้ก็ได้มาจากชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่งของเพื่อนเธอ โรงเรียนแห่งนี้ต้องอยู่ห่างไกล เธอตั้งชัยภูมิให้อยู้ทางเหนือของสก็อตแลนด์ โรว์ลิ่งคุ้นเคยกับปราสาทเก่าแก่มากมายแต่เธอไม่เคยวาดภาพปราสาทฮอกวอตส์ให้เหมือนกับปราสาทเก่าแก่ต่างๆเลย มันเกิดจากจินตนาการของโรว์ลิ่ง โรว์ลิ่งกล่าวว่าอยากให้เรื่องของเธอมีความแปลกใหม่ต่างจากนิยายเรื่องอื่นๆ
เมื่อรถไฟลงถึงที่ลอนดอนเธอรีบตรงกลับไปที่บ้านและจดบันทึกเรื่องราวทุกๆอย่างที่เธอคิด เธอคิดไว้ว่าจะเขียนนิยายภาคต่อ ซึ่งเธอวางแผนว่าจะเขียนให้มีถึง 7 ภาคด้วยกัน แต่ละเล่มคือแต่ละปีของแฮร์รี่ที่ฮอกวอตส์ เธอจินตนาการเพื่อนๆของแฮร์รี่เพิ่มาอีกสองคน นั่นคือ รอน วีสลีย์ และแฮกริด โรว์ลิ่งคิดเรื่องราวใหม่เพิ่มเติมลงไปให้มาก เธอมักเขียนหนังสือที่ร้านกาแฟในเมืองเอดินบาระ เธอคิดค้นหาชื่อตัวละครจากทุกที่ไม่ว่าจะเป็น สมุดโทรศัพศ์ ป้ายร้านค้า นักบุญ นักรบที่เสียชีวิตในสงคราม โจร ผู้ร้าย หมู่บ้านต่างๆ รวมไปถึงสมุดตั้งชื่อเด็ก เธอยังได้คิดกีฬายอดนิยมของพวกพ่อมดที่มีชื่อว่าควิดดิชที่เธอคิดชื่อและประวัติของกีฬา รวมถึงวิธีการเล่นต่างๆ ลูกบอล ซึ่งโรว์ลิ่งได้นำกีฬาต่างๆมาผสมผสานกัน ได้แก่ ฟุตบอล บาสเก็ตบอล เบสบอล และรวมถึงการเล่นไล่จับ ซึ่งจินตนาการของเธอถือว่ายอดเยี่ยมมากเลยที่เดียว เธอคิดถึงเรื่องราวของแฮร์รี่ พอตเตอร์ เขาเป็นใคร มีนิสัยอย่างไร อาศัยอยู่กับใคร ครอบครัวเป็นอย่างไร จนข้อมูลทั้งหมดไหลผ่านปลายปากกาของโรว์ลิ่งโยงมาเป็นเรื่องราว โรว์ลิ่งใช้เวลากว่า 5 ปีเพื่อที่จะทำการขัดเกลานิยายของเธอให้สมบูรณ์ ใช้ภาษาให้ดูสวยขึ้น ซึ่งเธอก็กล่าวภายหลังว่าบทควิดดิชในหนังสือเล่มแรกเธอสามารถเขียนได้เร็วที่สุดโดยเธอเขียนเสร็จภายในวันเดียวและแก้คำไปเพียงสองถึงสามคำเท่านั้น 5 ปีหลังจากที่เกิดความคิดที่จะเขียนนิยายเรื่องนี้ หนังสือของเธอก็ได้รับการตีพิมพ์และขายดีไปทั่วโลก
The elephant house
ร้านที่ เจ. เค. นั่งเขียน harry potter